กลิ่นหอม พลังสร้างสรรค์สุขภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย "ถ้าต้องการมีสุขภาพดี จำต้องอาบน้ำด้วยเครื่องหอมพร้อมทั้งนวดตัวด้วยน้ำมันหอมทุกวัน" ฮิปโปเครติส (Hippocrates) บิดาแห่งการแพทย์ตะวันตก กล่าวไว้เมื่อพันปีก่อน ถึงวันนี้ ศาสตร์และศิลป์ของการใช้กลิ่นหอม ยังคงได้รับความนิยม นำมาใช้ในด้านของสุขภาพ พร้อมทั้งพัฒนาเรื่องกลิ่นไปสู่แวดวง การสร้างจินตนาการให้กับผลิตภัณฑ์ การเพิ่มเสน่ห์หรือสร้างบุคลิก ให้กับผู้ใช้กลิ่นหอมนานาชนิด กลิ่นหอมยังเป็นเครื่องประดับ หรือแฟชั่นด้วย เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า วิธีการกลั่นและการเก็บรักษากลิ่นต่างๆ ก็พัฒนาดีขึ้น และยังล้ำหน้าไปถึงการสร้างกลิ่นสังเคราะห์ เลียนแบบกลิ่นธรรมชาติ หรือสร้างกลิ่นใหม่ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด นักเคมีทำงานกับนักปรุงกลิ่น (Perfumer) ผลิตกลิ่นสังเคราะห์ได้มากกว่า 4,000 ชนิด ขณะที่กลิ่นหอมสกัดจากพืชในธรรมชาติ มีเพียง 2,000 ชนิด และกลิ่นหอมที่ได้จากสัตว์เพียง 4 ชนิด (ปลาวาฬ ชะมด บีเวอร์ และตัว musk กวางประเภทหนึ่ง)
ในเมืองไทยมีพืชพรรณที่ให้กลิ่นหอมได้ราว 400 ชนิด ซึ่งประมาณ 20 ชนิดกำลังได้รับการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก และนำมากลั่นเป็นเครื่องหอม คุณภาพดีจากเมืองไทย เนื่องจากพืชในเขตร้อนมักให้กลิ่นหอม มากกว่าพืชในเมืองหนาว และเมืองไทยคือเมืองเกษตรกรรม จึงเหมาะมากในการพัฒนา มะกรูด กระชาย กะเพรา โหระพา พริกไทยดำ ขิง ข่า ตะไคร้ ไพล ขมิ้น แฝกหอม กระดังงา คือตัวอย่างพืชที่มีศักยภาพ ในการผลิตเป็นเครื่องหอม โดยเฉพาะ มะกรูด กะเพรา ไพล ขมิ้นชัน และกระดังงา กำลังเป็นที่ต้องการของชาวโลก แต่ถ้าคัดเหลือเฉพาะนางงาม กลิ่นหอมของกระดังงาเป็นที่ต้องตา ต้องจมูกยิ่งนัก
กระดังงาลนไฟแต่เดิมที่แสดงถึงความหอม นุ่มนวลยวนยั่วจมูกกำลังโชย กลิ่นอบอวลในรูปของ น้ำมันหอมระเหย ที่นำมาใช้ประโยชน์ด้านกลิ่นเพื่อสุขภาพ (Aromatherapy) เหตุที่กลิ่นกระดังงาได้รับความนิยม เนื่องจากกลิ่นกระดังงาหอมลุ่มลึก นุ่มนวล ให้ความรู้สึกสงบเย็น จึงตอบสนองกับอาการของคนร่วมสมัยทั้งโลก นั่นคือ ช่วยให้ร่างกาย และจิตใจผ่อนคลายได้จากความเครียด หรือความกระวนกระวายใจ แก้อาการนอนไม่หลับ บรรเทาจิตใจห่อเหี่ยวหรือช่วยให้สดชื่น เพียงแค่ลดหรือบรรเทาความเครียด ก็ช่วยลดอาการผิดปกติของร่างกาย หรือไม่สร้างปัญหาสุขภาพได้มากมาย เช่น การปวดหัว วิงเวียน ปดกล้ามเนื้อคอ ความดันโลหิตสูง ความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ (ลดความเครียด) น้ำตาลในเลือดสูง ปวดหลัง โรคกระเพาะ และปัญหาสมรรถภาพทางเพศ
กลิ่นหอมกระดังงาไทยอาจเป็นกลิ่นที่ คนไทยไม่นิยม เพราะคุ้นเคยหรือเห็นเป็นของพื้น ๆ อยากใช้กลิ่นมาจากนอก ที่ให้คุณสมบัติคล้ายกันมากกว่า เช่น กลิ่นคาโมไมล์ หรือลาเวนเดอร์ ซึ่งก็สามารถใช้ได้ และกลิ่นหอมยังเป็นเรื่องเฉพาะตัว ที่บางท่านอาจชอบไม่ชอบต่างกัน รวมทั้งกลิ่นมีผลต่อร่างกาย แต่ละคนไม่เหมือนกันด้วย ดังนั้น กลิ่นหอมคลายเครียด แก้เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย ก็ยังสามารถใช้กลิ่นกุหลาบ กลิ่นโหระพา ได้ด้วย นอกจากกลิ่นในกลุ่มที่ช่วยให้ผ่อนคลาย หรือลดความเครียดแล้ว กลิ่นอีกกลุ่มหนึ่งจะส่งผล ในลักษณะกระตุ้น หรือช่วยให้ตื่นตัว เช่นกลิ่น มะนาว มะกรูด ส้ม ตะไคร้ ยูคาลิปตัส
มีการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น เรื่องผลของกลิ่นต่อประสิทธิภาพการทำงาน ของพนักงานคอมพิวเตอร์ พบว่ากลิ่นมะนาวช่วยให้การทำงานผิดพลาดลดลงได้ 50% กลิ่นมะลิหรือจัสมิน ช่วยลดความผิดพลาดได้ 30% และกลิ่นลาเวนเดอร์ ลดความผิดพลาดได้ 20% เหตุผลการศึกษาชิ้นนี้ ยืนยันสรรพคุณของกลิ่นทั้ง 3 ชนิดคือ กลิ่นมะนาวช่วยกระตุ้นให้เกิดการเร้าใจ ตื่นตัวต่อการทำงาน กลิ่นจัสมินทำให้จิตใจสงบ และกลิ่นลาเวนเดอร์ช่วยผ่อนคลายมาก ดังนั้น ในบางบริษัทของญี่ปุ่น จะมีการใช้กลิ่นกลุ่มมะนาวในที่ทำงาน เพื่อกระตุ้นให้ทำงานได้ดีขึ้น
หรือการศึกษาเบื้องต้นของโรงพยาบาล เจริญกรุงประชารักษ์ พบว่าวันแรกที่จุดเตาน้ำมันหอมระเหย กลิ่นลาเวนเดอร์ไว้ที่บริเวณ ผู้รอรับบริการ ทั้งผู้ป่วยและญาติมิตร มีอาการสงบ ไม่อารมณ์เสีย และลดการตำหนิด้านการบริการลง วันที่สองใช้กลิ่นจัสมิน พบว่าภายในห้องรอรับบริการวุ่นวาย ยุ่งเหยิง พอวันสุดท้ายใช้กลิ่นมะนาว พบว่าเกิดความวุ่นวายมาก และมากกว่าวันที่ไม่ใช้กลิ่นอะไรเลย ตัวอย่างการศึกษา 2 เรื่องนี้คงให้แนวทางการเลือกใช้กลิ่น เพื่อสุขภาพของเราได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับวิธีใช้นั้น คนไทยยามฮิตกลิ่นหอมบำบัดโรคมักจะคุ้นเคยเฉพาะ วิธีการจุดตะเกียงน้ำมันเท่านั้น ซึ่งความจริงการใช้กลิ่นหอมยังสามารถใช้ในลักษณะ หยดน้ำมันหอมในอ่างน้ำเวลาอาบน้ำได้ และการนวดด้วยน้ำมันหอม ซึ่งเป็นวิธีที่ทำกันมาตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อน ก็เป็นวิธีผ่อนคลายที่ดีที่สุด
เพราะนอกจากสรรพคุณจากกลิ่นหอมแล้ว ศาสตร์การนวดคลึงกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็น ยังช่วยผ่อนคลายได้ดีเยี่ยม และน้ำมันที่นวดยังสามารถซึมซับเข้าสู่ร่างกายได้ด้วย ศาสตร์และศิลป์เรื่องกลิ่นหอมเพื่อสุขภาพเหล่านี้ เป็นเรื่องที่น่าส่งเสริมและพัฒนาในวัฒนธรรมไทย เนื่องจากแต่เดิมคนไทยก็ใช้กลิ่นเพื่อสุขภาพมากมาย เช่น เวลาเป็นไข้ลูกหลานก็ต้องอาบน้ำอุ่นที่ต้มกับหัวหอมแดง หรือการอบไอน้ำที่มีสมุนไพรนับสิบชนิด ปรุงกลิ่นหอมอบอวล หรือน้ำอบน้ำปรุง แป้งร่ำ รวมทั้งกลิ่นหอมของมวลดอกไม้ ร้อยเป็นมาลัยหรือที่ใส่แจกัน ซึ่งโชยกลิ่นหอมสร้างจินตนาการและช่วยสุขภาพกายใจให้แก่เรา โดยที่เราไม่ทันได้สังเกตจนกระทั่ง นักบำบัดด้วยกลิ่นจากต่างชาติมาปลุกกระแส วันนี้เรามีความรู้เพิ่ม ก็น่าจะหันมาปลูกไม้หอมนานาพรรณ เพื่อให้กลิ่นหอมของไม้แต่ละชนิด ได้ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของเรา หรือถ้านิยมน้ำมันหอมระเหย ก็น่าจะหันมาใช้กลิ่นหอมจากดอกไม้ไทย ๆ เช่น กระดังงา มะลิ เพื่อคลายเครียด และกลิ่นส้ม มะนาว มะกรูด เพื่อให้จิตใจและร่างกายกระปรี้กระเปร่า ทำงานอย่างมีคุณภาพ
|